Weizmann, Chaim Azriel (1874–1952)

คาอิม อัซเรียล ไวซ์มันน์ (พ.ศ. ๒๔๑๗–๒๔๙๕)

 คาอิมอัซเรียลไวซ์มันน์เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอิสราเอลเมื่อสถาปนาประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๘ เป็นประธานองค์การไซออนิสต์โลก (World Zionist Organization) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๓๑ และ ค.ศ. ๑๙๓๕–๑๙๔๖ และเป็นผู้ว่าการองค์กรตัวแทนชาวยิวเพื่อปาเลสไตน์ (Jewish Agency for Palestine) ไวซ์มันน์มีบทบาทเด่นในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่นำไปสู่การจัดตั้งประเทศอิสราเอล นอกจากนี้เขายังเป็นนักเคมีที่มีชื่อเสียงระดับโลกและใช้ความรู้ทางเคมีสกัดสารประกอบที่จำเป็นต่อการผลิตระเบิดให้แก่กองทัพเรืออังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทำให้เขาก่อตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ (Weizmann Institute of Science) ซึ่งปัจจุบันเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและร่วมมือกับบุคคลเชื้อสายยิวที่มีชื่อเสียงได้แก่อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ซิกมุนด์ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และมาร์ตินบูเบอร์ (Martin Buber) จัดตั้งมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม (Hebrew University of Jerusalem) ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก

 ไวซ์มันน์เกิดในครอบครัวรายได้น้อยเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๔ ที่โมตอล (Motal) หมู่บ้านชนบทเล็ก ๆ ในจักรวรรดิรัสเซีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลารุส (Belarus) เขาเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวน ๑๕ คน ของอีเซอร์ ไวซ์มันน์ (Ezer Weizmann) กับราเชล เชเมรินสกี (Rachel Czemerinsky) ครอบครัวมีรายได้จากการขนส่งไม้เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ติดกับป่าทึบ เมื่อโตเป็นหนุ่มไวซ์มันน์เคยใช้เวลาช่วงฤดูร้อนช่วยงานบิดาด้วยการล่องแพส่งไม้ไปยังเมืองท่าต่าง ๆ ในทะเลบอลติก (Baltic)

 แม้ครอบครัวค่อนข้างขัดสน แต่คู่สามีภรรยาก็สนับสนุนบุตรให้เรียนต่อหลังจากที่จบการเรียนในวัยเด็กตามจารีตที่เคร่งครัดแบบครอบครัวชาวยิวและต่างประกอบอาชีพครู แพทย์ ทันตแพทย์ วิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์ ส่วนไวซ์มันน์นั้นเมื่ออายุ ๑๑ ปีก็จบการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนศาสนาและถูกส่งให้ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่เมืองปินสค์ (Pinsk) ซึ่งอยู่ใกล้เคียง ณ ที่นี้เขาได้ครูสอนวิทยาศาสตร์ที่มีสายตาเฉียบคมส่งเสริมศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นของเขาโดยเฉพาะวิชาเคมีเมื่อถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัยใน ค.ศ. ๑๘๙๒ ความเบื่อหน่ายกับระบบที่มีการจำกัดโควตาในการรับนักศึกษาเชื้อสายยิวไวซ์มันน์จึงเดินทางไปเยอรมนีและเข้าเรียนที่สถาบันโพลีเทคนิคแห่งดาร์มชตัดท์ (Polytechnic Institute of Darmstadt) และรับสอนวิชาวิทยาศาสตร์และภาษารัสเซียไปด้วยที่โรงเรียนประจำของยิวสายออร์ทอดอกซ์เพื่อมีรายได้เพิ่มนอกเหนือจากเงินที่ส่งมาจากทางบ้าน ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ เขาย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเทคนิคชาร์ลอตเทนบูร์ก (Charlottenburg Technical University) ในกรุงเบอร์ลิน ไวซ์มันน์ได้เข้าร่วมกับแวดวงปัญญาชนของขบวนการไซออนิสต์ (Zionism)* ที่เป็นขบวนการชาตินิยมและการเมืองของชาวยิวที่ต้องการสถาปนารัฐยิวในดินแดนที่ระบุว่าคือดินแดนประวัติศาสตร์แห่งอิสราเอล ต่อมาเมื่ออาจารย์ที่เขาชื่นชอบย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยฟรีบูร์ (University of Fribourg) ไวซ์มันน์จึงย้ายที่เรียนไปสวิตเซอร์แลนด์ด้วยใน ค.ศ. ๑๘๙๗ และมีโอกาสเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของขบวนการไซออนิสต์ครั้งที่ ๒ (Second Zionist Congress) ที่เมืองบาเซิล (Basel)

 ไวซ์มันน์จบปริญญาเอกสาขาวิชาอินทรีย์เคมีใน ๒ ปีต่อมาจากมหาวิทยาลัยฟรีบูร์ และใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ได้งานสอนวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยเจนีวา (University of Geneva) และทำงานวิจัยทางด้านอินทรีย์เคมีด้วยโดยเน้นเกี่ยวกับสารย้อมสีและพืชที่มีกลิ่นหอม ที่นครเจนีวานี้ไวซ์มันน์ได้พบกับเวรา ชัตซ์มัน (Vera Chatzman) นักศึกษาแพทย์ชาวรัสเซียเชื้อสายยิวที่สโมสรไซออนิสต์ ไวซ์มันน์สอนภาษาเยอรมันให้แก่เธอ ทั้งคู่สมรสกันใน ๖ ปีต่อมา และมีบุตรชาย ๒ คน

 ไวซ์มันน์สามารถทำรายได้จากผลงานวิจัยที่เขาจดลิขสิทธิ์ได้หลายชิ้นในปลายทศวรรษ ๑๘๙๐ ภาระการเงินที่ค่อนข้างขาดแคลนก็ผ่อนคลายทั้งยังทำให้เขาสามารถส่งเงินช่วยน้องชายและน้องสาวให้เรียนจบมหาวิทยาลัยด้วย ไวซ์มันน์เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันกับขบวนการไซออนิสต์ ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ในการประชุมของขบวนการไซออนิสต์ครั้งที่ ๔ ไวซ์มันน์ก็เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำกลุ่มไซออนิสต์ประชาธิปไตย (Democratic Zionist faction)

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ไวซ์มันน์ย้ายไปลงหลักปักฐานที่อังกฤษเพราะได้ตำแหน่งงานสอนที่ภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) ณ เมืองแมนเชสเตอร์นี้เขาและภรรยาได้รับสัญชาติอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เขาอาศัยอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์เป็นเวลาถึง ๓๐ ปี ไวซ์มันน์เป็นที่รู้จักในชื่อ ชาลส์ ไวซ์มันน์ (Charles Weizmann) ซึ่งเป็นชื่อที่เขาใช้จดลิขสิทธิ์ผลงานวิจัยต่าง ๆ ด้วยภายในเวลาไม่นานเขาก็เป็นไซออนิสต์ระดับนำในอังกฤษและมีโอกาสได้พบกับอาร์เทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour)* ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกสภาสามัญสังกัดพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* จากเขตเมืองแมนเชสเตอร์ ไวซ์มันน์สื่อความคิดเรื่องความใฝ่ฝันของชาวยิวให้บัลฟอร์รับรู้จนบัลฟอร์สนับสนุนเรื่องการมีประเทศของชาวยิวต่อมาเมื่อบัลฟอร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไวซ์มันน์ก็โน้มน้าวให้เขาเห็นด้วยกับการตั้งประเทศของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ ไม่ใช่ที่ลี้ภัยในแอฟริกาที่โจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมเคยเสนอต่อสมาชิกระดับนำของขบวนการไซออนิสต์ ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่เรียกกันว่า โครงการยูกันดา (Uganda Scheme) โครงการนี้เสนอให้แอฟริกาตะวันออกของอังกฤษ (British East Africa) เป็นดินแดนลี้ภัยของชาวยิวที่เผชิญกับความคิดต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)* ดังเช่นที่ชาวยิวในรัสเซียได้ประสบโดยให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานทำการเกษตร

 แมนเชสเตอร์กลายเป็นแหล่งชุมนุมปัญญาชนไซออนิสต์ในอังกฤษแห่งสำคัญเมื่อไวซ์มันน์ได้รับการแนะนำจากชาลส์ เพรสต์วิช สกอตต์ (Charles Prestwich Scott) เจ้าของหนังสือพิมพ์ Manchester Guardian ให้รู้จักกับกลุ่มบุคคลเชื้อสายยิว เช่น ไซมอน มากส์ (Simon Marks) ผู้ก่อตั้งห้างมาร์กแอนด์สเปนเซอร์ (Marks & Spencer) ที่เมืองแมนเชสเตอร์จนปัจจุบันมีสาขาในหลายประเทศทั่วโลก แฮร์รี ซาเคอร์ (Harry Sacher) นักกฎหมายเชื้อสายยิวและเป็นน้องเขยของมากส์ เขาอยู่ในแกนนำขบวนการไซออนิสต์และมีส่วนในการร่างปฏิญญาบัลฟอร์ (Balfour Declaration)* ซึ่งเป็นเอกสารที่อังกฤษแสดงพันธะสัญญาต่อผู้นำชาวยิว และอิสราเอล ซีฟฟ์ (Israel Sieff) นักธุรกิจเชื้อสายยิว ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ซีฟฟ์มอบทุนจัดตั้งสถาบันวิจัยแดเนียล ซีฟฟ์ (Daniel Sieff Research Institute) ในอิสราเอลให้ไวซ์มันน์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แดเนียล ซีฟฟ์ บุตรชายที่ล่วงลับ

 ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ เดวิด ลอยด์ จอร์จ(David Lloyd George)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธ และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงราชนาวี ได้รับคำแนะนำว่าไวซ์มันน์น่าจะใช้ความรู้ด้านสารเคมีช่วยกองทัพยามสงครามได้ ไวซ์มันน์จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทดลองของกองทัพเรืออังกฤษ เขามีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะในช่วงที่อังกฤษมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องหาสารอาซีโตน (acetone) เพื่อใช้ในการทำชนวนระเบิด ไวซ์มันน์สามารถคิดกระบวนการได้สารละลายอาซีโตนจากข้าวโพดสำเร็จโดยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาแสดงให้เชอร์ชิลล์และกองทัพเรือได้เห็นว่าเขาสามารถเปลี่ยนเมล็ดข้าวโพด ๑๐๐ ตัน เป็นอาซีโตน ๑๒ ตัน (หรือประมาณ ๒,๖๐๐ แกลลอน) รัฐบาลอังกฤษจึงสั่งให้นำอุปกรณ์ต้มกลั่นเพื่อการสงครามเข้ามาใช้ อีกทั้งสร้างโรงงานใหม่ ๆ เพื่อใช้กับกระบวนการของไวซ์มันน์ด้วยที่โฮลตันฮีท (Holton Heath) ในมณฑลดอร์เซต (Dorset) และที่คิงส์ลินน์ (King’s Lynn) ในมณฑลนอร์ฟอล์ก (Norfolk) โรงงานทั้งหลายสามารถร่วมกันผลิตอาซีโตนได้มากกว่า ๙๐,๐๐๐ แกลลอนต่อปีซึ่งเพียงพอสำหรับการผลิตระเบิด ทำให้กองทัพเรือและกองทัพบกอังกฤษยิงปืนใหญ่ไปทั้งสิ้น ๒๔๘ ล้านลูก ในช่วงสงครามโลกนี้ไวซ์มันน์อยู่กับกองทัพเรือจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยมีผลงานเป็นที่พอใจของรัฐบาลอังกฤษมาก

 ระหว่างสงคราม ไวซ์มันน์ทำให้อุดมการณ์ไซออนิสต์เป็นที่รับรู้ เขาเป็นสมาชิกขบวนการไซออนิสต์ที่มีศรัทธามั่นคงเพราะได้รับอิทธิพลจากบิดามาตั้งแต่เด็กจนซึมซับวัฒนธรรมและอุดมการณ์ชาตินิยมของชาวยิว เมื่ออายุ ๑๑ ปีไวซ์มันน์เคยเขียนจดหมายเป็นภาษาฮีบรู (Hebrew) ถึงครูที่สอนภาษานี้ให้เขาในหมู่บ้านโมตอล แสดงความรู้สึกของเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นอยากให้ชาวยิวกลับสู่ดินแดนไซออน (Zion) หรือปาเลสไตน์ (Palestine) และเมื่อเป็นนักศึกษาไวซ์มันน์ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์การไซออนิสต์และดำเนินมาตลอดจนถึงช่วงทำงาน จนเป็นที่จับตาในฐานะประธานกลุ่มไซออนิสต์หนุ่ม (Young Zionist) ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มของเทโอดอร์ แฮร์เซิล (Theodor Herzl)* ผู้สถาปนาแนวคิดไซออนิสต์ใหม่ (Modern Zionism) โดยเฉพาะเรื่องข้อถกเถียงยูกันดา (Uganda dispute) ในช่วง ค.ศ. ๑๙๐๓–๑๙๐๕ ที่อังกฤษเสนอ อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมาธิการดำเนินการของสมัชชาใหญ่องค์การไซออนิสต์ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ไวซ์มันน์ไม่ได้แสดงบทบาทชี้นำอะไรนักจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เขาเริ่มแสดงทัศนะของขบวนการไซออนิสต์และเมื่อถึงช่วงปลายสงคราม การเจรจาทางการเมืองระหว่างขบวนการไซออนิสต์กับรัฐบาลอังกฤษก็ลื่นไหลขึ้นมาก เพราะไวซ์มันน์สามารถเข้าถึงบรรดารัฐมนตรีอาวุโส เขามีบทบาทสำคัญในด้านการเจรจาต่อรองซึ่งนำไปสู่การออกปฏิญญาบัลโฟร์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่อังกฤษแสดงท่าทีสนับสนุนการจัดตั้งประเทศของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์

 ปฏิญญาบัลฟอร์ที่รัฐบาลลอยด์ จอร์จ ซึ่งพอใจผลงานของไวซ์มันน์ให้ความเห็นชอบนั้นเป็นจดหมายลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ของบัลฟอร์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่มีไปยังวัลเทอร์ รอตส์ไชลด์ บารอนรอตส์ไชลด์ที่ ๒ [Walter Rothschild, 2ᶰᵈ Baron Rothschild เขายังใช้บรรดาศักดิ์ บารอน เดอ รอตส์ไชลด์ (Baron de Rothschild) ของออสเตรียซึ่งประเทศอังกฤษรับรองด้วย] นายธนาคารผู้นำชาวยิวในอังกฤษ ที่บ้านพักเลขที่ ๑๔๘ ถนนพิกคาดิลลี (Piccadilly) เพื่อให้ส่งต่อข้อความไปยังสหพันธ์ไซออนิสต์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (Zionist Federation of Great Britain and Ireland) ว่ารัฐบาลอังกฤษเห็นชอบกับการสถาปนาประเทศของชาวยิว (national home) ในดินแดนปาเลสไตน์ และจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะอำนวยให้สำเร็จผล โดยเป็นที่เข้าใจชัดเจนว่าจะไม่ทำการอันใดที่แสดงอคติต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางศาสนาของชุมชนที่ไม่ใช่ชาวยิวที่มีอยู่ก่อนแล้วในปาเลสไตน์ หรือต่อสิทธิและสถานะทางการเมืองที่ชาวยิวมีอยู่ในประเทศอื่น ๆ

 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ไวซ์มันน์เดินทางไปนครเยรูซาเลม (Jerusalem) เป็นครั้งแรกและไปยังเมืองอกาบา (Aqaba) ทางใต้ของทรานส์จอร์แดน (Transjordan) จึงได้พบกับอามีร์ ไฟซอลแห่งฮิญาซ [(Amir Faisal of Hejaz) ต่อมาเป็นกษัตริย์องค์แรกของอิรัก] เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับ เมื่อได้พบกันอีกครั้งในช่วงการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส ค.ศ. ๑๙๑๙ (Paris Peace Conference 1919)* ทั้งสองได้เจรจาจนมีการทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ณ การประชุมที่เมืองซานเรโม (San Remo Conference)* ในเขตริเวียรา ประเทศอิตาลี ของชาติสัมพันธมิตรใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ว่าด้วยการจัดการดินแดนเดิมของจักรวรรดิออตโตมันและไวซ์มันน์ได้ไปร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ มีการยืนยันปฏิญญาบัลฟอร์อีกครั้งและการยกดินแดนในอาณัติแห่งปาเลสไตน์ (Palestine Mandate)* ให้แก่อังกฤษ ในปีเดียวกันนั้นไวซ์มันน์ซึ่งเป็นประธานสหพันธ์ไซออนิสต์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๗ ก็ได้รับตำแหน่งประธานองค์การไซออนิสต์โลก (World Zionist Organization) โดยดำรงตำแหน่ง ๒ ช่วงเวลาคือ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๓๑ และ ค.ศ. ๑๙๓๕–๑๙๔๖ การรับตำแหน่งนี้ทำให้เขาเดินทางอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยไปทั่วโลกเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของขบวนการไซออนิสต์และรณรงค์เรื่องการระดมทุน

 ตลอดทศวรรษ ๑๙๒๐ นับเป็นช่วงเวลาที่ทดสอบการเป็นนักเจรจาต่อรองของไวซ์มันน์อย่างจริงจังเมื่ออังกฤษเผชิญกับปัญหาของตนเองมากขึ้นทุกทีกอปรกับเกิดความรุนแรงในประเทศอันเนื่องมาจากฝ่ายอาหรับชาตินิยมเริ่มต่อต้านชาวยิวมากขึ้น อังกฤษจึงค่อย ๆ ถอนตัวจากพันธกิจที่จะสนับสนุนการมีประเทศของชาวยิว ในตอนแรกไวซ์มันน์ไม่หวั่นไหวนักกับการที่ต้องเผชิญกับความโลเลของรัฐบาลอังกฤษแต่การประท้วงและการปะทะกันของยิวกับอาหรับในดินแดนปาเลสไตน์ทำให้การทำงานของเขายุ่งยากมากขึ้น เพราะฝ่ายอาหรับอ้างว่าปาเลสไตน์เป็นดินแดนของตนมากว่า ๑,๓๐๐ ปี ส่วนยิวยืนกรานสิทธิในการครอบครองดินแดนมาก่อนและความเกี่ยวพันในประวัติศาสตร์ที่มีชัยเหนือดินแดนนี้เมื่อ ๑,๒๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช นอกจากนี้ยังเกิดความแตกร้าวในหมู่สมาชิกขบวนการไซออนิสต์และการต่อต้านไวซ์มันน์เองจากฝ่ายที่ตั้งตนเป็นศัตรู เนื่องจากนโยบายค่อยเป็นค่อยไปของเขาไม่เป็นที่พอใจของพวกชาตินิยมยิวสายสุดโต่งนัก สมาชิกขบวนการไซออนิสต์บางคนกล่าวหาไวซ์มันน์ว่าอ่อนข้อให้อังกฤษมากเกินไปและเห็นว่าเขาเข้าไปอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงของสังคมอังกฤษจากการที่ฐานะทางการเงินเอื้ออำนวยแล้ว ในที่สุดเมื่ออังกฤษประกาศเปลี่ยนนโยบายในปาเลสไตน์ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกไซออนิสต์ การเป็นผู้นำองค์กรชาตินิยมยิวก็ยิ่งถูกท้าทาย ความอึดอัดใจที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไวซ์มันน์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานองค์การไซออนิสต์โลกใน ค.ศ. ๑๙๓๐ แต่ถูกขอร้องให้อยู่ต่อไปอย่างไรก็ดี ในการประชุมใหญ่ ค.ศ. ๑๙๓๑ มีการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจไวซ์มันน์ทำให้เขาไม่ได้รับเลือกให้เป็นประธานองค์การไซออนิสต์โลกและผู้ว่าการองค์กรตัวแทนชาวยิวเพื่อปาเลสไตน์ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานที่เขาก่อตั้งขึ้นเองใน ค.ศ. ๑๙๒๙

 หลังจากนั้นไวซ์มันน์จึงหันไปสนใจด้านวิทยาศาสตร์ และใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยแดเนียล ซีฟฟ์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์) ที่เมืองรีโฮวอต (Rehovot) ในปาเลสไตน์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนนักธุรกิจชาวอังกฤษ อย่างไรก็ดี ไวซ์มันน์ยังมีบทบาทสำคัญในการพยายามช่วยเหลือชาวเยอรมันเชื้อสายยิวเมื่อพรรคนาซี (Nazi Party)* ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ได้อำนาจในเยอรมนีและเริ่มออกมาตรการกดขี่ต่อชาวยิว ต่อมาเมื่อเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานองค์การไซออนิสต์โลกอีกครั้ง ไวซ์มันน์เห็นด้วยกับคำแนะนำของคณะกรรมาธิการของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ที่ดำเนินการสืบเสาะข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์ในปาเลสไตน์และเสนอให้แบ่งดินแดนเป็นเขตยิวกับเขตอาหรับโดยให้เหตุผลว่า “ได้ขนมปังครึ่งแถวย่อมดีกว่าไม่ได้เลย” และเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องประนีประนอมกับรัฐบาลอังกฤษและชาติอาหรับ เขาถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีอย่างดุเดือดว่าขี้ขลาดและยอมจำนนต่อผลประโยชน์ของอังกฤษมากกว่าแม้ว่าต่อมาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการก็ไม่ได้รับการปฏิบัติตามเพราะฝ่ายอาหรับปฏิเสธ

 ในต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ไวซ์มันน์ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกระทรวงสรรพาวุธ และทำวิจัยเกี่ยวกับยางสังเคราะห์และน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนสูง ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ขอให้ไวซ์มันน์ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับยางสังเคราะห์ด้วยแต่ข้อเสนอของไวซ์มันน์ไม่เป็นผล ซึ่งเขาระบุไว้ในบันทึกว่าเป็นเพราะการขัดขวางของบริษัทน้ำมันต่าง ๆ นอกจากนี้การมีอุดมการณ์มุ่งมั่นที่จะให้มีประเทศของชาวยิวให้ได้ ไวซ์มันน์จึงพยายามหาทางให้ชาวยิวจากปาเลสไตน์มีส่วนในสงครามโลกด้วยและด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การจัดตั้งกองพลน้อยยิว (Jewish Brigade Group) ในกองทัพอังกฤษซึ่งสู้ในแนวรบอิตาลีเป็นหลักในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ สถาบันวิจัยแดเนียล ซีฟฟ์ที่เขาก่อตั้งขึ้นก็ช่วยกองทัพพันธมิตรในการจัดหาเภสัชภัณฑ์ที่จำเป็น [ต่อมาในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๙ ซึ่งเป็นวันครบรอบการประกาศปฏิญญาบัลฟอร์ สถาบันวิจัยซึ่งเติบโตก้าวหน้าขึ้นมากได้เปลี่ยนชื่อด้วยความเห็นชอบของตระกูลซีฟฟ์เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ ปัจจุบันเป็นสถาบันชั้นนำของโลกในการวิจัยและการสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ] ยิ่งไปกว่านั้นบุตรชาย ๒ คนของไวซ์มันน์ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสงคราม เบนจามิน ไวซ์มันน์ (Benjamin Weizmann) บุตรชายคนโตซึ่งหลังสงครามมีอาชีพเป็นชาวไร่เลี้ยงโคนมในไอร์แลนด์เข้าสังกัดอยู่กับกองพันทหารปืนใหญ่ทางใต้ของอังกฤษ ส่วนคนรองชื่อไมเคิล โอเซอร์ ไวซ์มันน์ (Michael Oser Weizmann) สังกัดอยู่กับกองทัพอากาศอังกฤษ เครื่องบินของเขาถูกยิงตกเหนืออ่าวบิสเคย์ (Bay of Biscay) เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ แต่ไม่พบร่างของเขา ไมเคิลจึงถูกจัดว่าเป็นผู้สูญหายขณะอายุ ๒๕ ปี ไวซ์มันน์เศร้าโศกเสียใจมากและระบุในพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้บุตรคนนี้ด้วย โดยหวังว่าเขาอาจเพียงถูกจับกุมและจะกลับมาในที่สุด หลังสงครามมีการพบบัญชีรายชื่อของหน่วยเอสเอส (SS)* ของรัฐบาลนาซีที่ระบุให้เข้าจับกุมบุคคลตามรายชื่อทันทีเมื่อเยอรมนีบุกอังกฤษ ในจำนวนกว่า ๒,๘๐๐ ชื่อของผู้ที่พำนักอยู่ในอังกฤษมีชื่อของไวซ์มันน์อยู่ด้วย

 หลังสงครามโลกไวซ์มันน์รู้สึกขมขื่นกับเหตุการณ์รุนแรงที่เพิ่มขึ้นในดินแดนในอาณัติแห่งปาเลสไตน์และแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการก่อการร้ายของบางกลุ่มในขบวนการไซออนิสต์ ขณะที่บทบาทและอิทธิพลของเขาในองค์การไซออนิสต์โลกก็ลดลงด้วย พวกไซออนิสต์หัวรุนแรงฟื้นข้อกล่าวหาที่ว่าไวซ์มันน์ลำเอียงเข้าข้างอังกฤษเมื่อเขาประณามกลุ่มชาวยิวที่รณรงค์ต่อต้านกองกำลังอังกฤษในปาเลสไตน์ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ไวซ์มันน์จึงเสียตำแหน่งประธานองค์การไซออนิสต์โลกในปีต่อมาและไม่ได้เป็นอีกเลย แม้ว่าชาวยิวโดยทั่วไปจะยังคงเคารพนับถือเขาอยู่ ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๗ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations)* เห็นชอบกับการแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ออกเป็น ๒ เขตตามที่มีการพิจารณามาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๖ ประเด็นการแบ่งดินแดนนี้ไวซ์มันน์กล่าวไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่าเป็นเพราะขบวนการไซออนิสต์ล้มเหลวในช่วงระหว่างสงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง ที่จะหนุนให้ชาวยิวจำนวนมากพอแสดงออกอย่างเด็ดเดี่ยวด้วยการอพยพเข้าไปอยู่ที่นครเยรูซาเลม เมื่อข่าวการเห็นชอบของสหประชาชาติแพร่กระจายไป ชาวยิวในกรุงเทลอาวีฟ (Tel Aviv) พากันโห่ร้องยินดีไปตามท้องถนน

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๘ แม้ไม่มีตำแหน่งเป็นทางการประธานองค์การไซออนิสต์โลกก็ส่งไวซ์มันน์ไปหารือข้อสำคัญกับประธานาธิบดีแฮรี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) แห่งสหรัฐอเมริกา เขาพยายามให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนใจที่จะจัดให้ปาเลสไตน์เป็นดินแดนในทรัสตีของสหประชาชาติ เพราะจะกระทบต่อแผนการสถาปนาประเทศอิสราเอล และให้ยกเลิกข้อเสนอที่จะไม่ให้จังหวัดเนเกฟ (Negev) ทางใต้ของปาเลสไตน์อยู่กับอิสราเอล หลังจากนั้นด้วยการประสานงานของไวซ์มันน์ สหรัฐอเมริกาก็รับรองรัฐอิสราเอลที่มีการประกาศสถาปนาขึ้นในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ และยังตกลงให้อิสราเอลกู้เงิน ๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกันไวซ์มันน์ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาแห่งรัฐชั่วคราว (Provisional StateCouncil) ของอิสราเอลซึ่งเทียบเท่าประธานาธิบดีชั่วคราว และในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๙ รัฐสภาอิสราเอล (Knesset) ก็ลงมติให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรก ในฐานะประธานาธิบดีเขามอบหมายให้ดาวิด เบน-กูร์ยอน (David Ben-Gurion) ประธานบริหารองค์การไซออนิสต์โลกซึ่งเป็นผู้นำของชุมชนชาวยิวในปาเลสไตน์และเป็นผู้ประกาศการสถาปนาประเทศอิสราเอลเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอลและจัดตั้งรัฐบาลขึ้น

 ประธานาธิบดีไวซ์มันน์ได้สละสัญชาติอังกฤษในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๙ เพื่อเป็นพลเมืองอิสราเอล เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๕๑ ตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่ใช่หัวหน้าคณะรัฐบาลทำให้งานบริหารประเทศไม่เป็นภาระหนักมากนัก เขาจึงไปพำนักอยู่ที่เมืองเรโฮวอตซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงเทลอาวีฟไป ๒๐ กิโลเมตร โดยอยู่ในเขตพื้นที่ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ และให้คำปรึกษาแก่นายกรัฐมนตรีเบน-กูร์ยอนที่มาพบหารือเป็นระยะ ๆ ไวซ์มันน์จึงสามารถดูแลงานวิทยาศาสตร์ที่เขารักและคงเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลมในนครเยรูซาเลมที่เขาร่วมมือกับไอน์สไตน์รณรงค์หาทุนจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๑ เพื่อให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาสำหรับประเทศที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นและยังให้การสนับสนุนสถาบันเทคโนโลยีเทคนีออน-อิสราเอล (Technion-Israel Institute of Technology) สถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่ที่สุดที่ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๒ ที่เมืองท่าไฮฟา (Haifa)

 คาอิม อัซเรียล ไวซ์มันน์ ถึงแก่อนิจกรรมจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๒ หลังจากเจ็บป่วยยาวนาน รวมอายุ ๗๗ ปี พิธีศพจัดเป็นรัฐพิธี ณ ที่พำนักของเขาที่เมืองเรโฮวอตผู้คนกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน เข้าแถวต่อคิวกันเพื่อคำนับศพทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวหลายแสนคนต่อปีไปเยือนหลุมฝังศพเขาซึ่งมีลักษณะเรียบง่าย ไวซ์มันน์มีงานเขียน สุนทรพจน์ และความเรียงทางการเมืองนับร้อยชิ้นนอกเหนือจากผลงานที่จดลิขสิทธิ์อีก ๑๑๐ เรื่อง ทั้งที่ทำคนเดียวและร่วมกับผู้อื่นผลงานชิ้นสำคัญได้แก่ What Is Zionism (ค.ศ. ๑๙๑๘) และ Trial and Error: The Autobiography of Chaim Weizmann (ค.ศ. ๑๙๔๙) เขามีหลานลุงชื่อ เอเซอร์ ไวซ์มัน (Ezer Weizman) เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๗ ของอิสราเอล (ค.ศ. ๑๙๙๓–๒๐๐๐) ด้วย.



คำตั้ง
Weizmann, Chaim Azriel
คำเทียบ
คาอิม อัซเรียล ไวซ์มันน์
คำสำคัญ
- การประชุมที่เมืองซานเรโม
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- ขบวนการไซออนิสต์
- ความคิดต่อต้านชาวยิว
- จอร์จ, เดวิด ลอยด์
- จอร์จ, ลอยด์
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ดินแดนในอาณัติแห่งปาเลสไตน์
- นาซี
- บัลฟอร์, อาร์เทอร์ เจมส์
- ปฏิญญาบัลฟอร์
- พรรคนาซี
- พรรคอนุรักษนิยม
- ไวซ์มันน์, คาอิม อัซเรียล
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สหประชาชาติ
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- แฮร์เซิล, เทโอดอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1874–1952
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๑๗–๒๔๙๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-